เรื่องเล่าให้ฟัง

นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์


ชมรมนี้เกิดขึ้นจากการดำริของอาจารย์ธาดา ชาคร ในราวต้นปี 2536 โดยมีผู้ร่วมริเริ่ม คือ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ และตัวผู้เขียนเอง โดยคิดให้มีการรวมตัวกันระหว่างแพทย์หัวใจทำงานที่ในห้องสวนหัวใจ มานั่งคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดในตอนนั้นการขยายหลอดเลือดหัวใจหรือ PTCA (Coronary Angioplasty) นั้นยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย มีผู้ได้รับการฝึกอบรมอยู่เป็นจำนวนน้อย โดยมากจะเป็นผู้ที่เคยได้รับการอบรมมาจากต่างประเทศ และโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นปัญหามากขึ้น

     การรวมตัวรวมพลครั้งแรกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยความกรุณาของอาจารย์สมชาติ โลจายะ ที่จัดสถานที่ประชุมและอาหารไว้เลี้ยงเป็นอย่างดี จำได้ว่าอาจารย์ธาดาได้นำไวน์แดงมาให้ดื่มด้วย (ซึ่งเป็นการถือปฏิบัติเป็นประเพณีมาตลอด) มีคนมาร่วมประชุมประมาณ 20 คน ได้เริ่มรูปแบบด้วยการดู CineAngiogram จากเครื่องฉายหนัง 35 มม. ขึ้นจอ แล้วก็วิพากย์วิจารณ์กันถึงวิธีการทำการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยลูกโป่ง ซึ่งในสมัยนั้นก็จะมีแต่ลูกโป่งอย่างเดียว ยังไม่มีเทคโนโลยีมากมายเหมือนในปัจจุบัน สิ่งที่พูดกันก็จะเป็นเรื่องของเทคนิคในการเลือกใช้ Guide Catheter, Guide Wire และชนิดต่างๆ หรือขนาดต่างๆ ของบอลลูน การเลือกใช้ท่าต่างๆในการถ่ายภาพ (Angiographic View) และที่สำคัญและเป็นหัวใจของการประชุมวิชาการคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำหรือหลังทำการขยายหลอดเลือดไปแล้ว มีการนำเสนอความคิดใหม่และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมาย

     พูดถึงชื่อของชมรมก็ต้องขอยกให้เป็นเครดิตของอาจารย์ศุภชัย ไชยธีระพันธ์ ซึ่งหลังจากมีเสนอชื่อเป็นสิบๆ ชื่อ
ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ โดยชื่อที่เริ่มแรกนั้นอาจารย์ธาดา ตั้งใจจะให้ชื่อว่า ชมรมบอลลูนเล็กแห่งประเทศไทย แต่ก็เกรงว่าจะไปคล้ายกับชมรมเครื่องบินเล็กและเกิดความเข้าใจผิดกัน แล้วก็มีการเสนอชื่อและลงคะแนนเสียงกันจึงได้ชื่อมา จริงๆแล้วน่าจะรวมถึงหัตการสวนหัวใจอื่นด้วย แต่เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมก็ยังคงชื่อนี้มาตลอด (Cardiac Intervention club vs.Coronary Intervention Club) ชื่อชมรมนั้นต่อมาเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นทั้งแพทย์หัวใจด้วยกันเองและผู้ป่วยหัวใจชมชอบเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ในขณะนั้นคือตบแต่งหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างนั้นมากขึ้น และก็ทำให้มัณฑนาการมีราคาแพงขึ้นตามความสวยงามของหลอดเลือดที่ได้ ส่วนเรื่องจะอยู่ทนขนาดไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

     ประเพณีอันหนึ่งซึ่งถือปฏิบัติกันมาคือ การจิบไวน์ร่วมไปกับการดู Cine Angiogram และร่วมไปกับการวิพากย์วิจารณ์ต่างๆนั้น ไม่ได้เพราะว่ามีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่อาจจะป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ต้องการให้มีบรรยากาศที่สบายๆ โล่งใจ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้ชมรมชอบกับการดื่มสุราแต่ชมชอบของบรรยากาศของการดื่มไวน์และดูฟิล์มมากกว่า และวันที่เลือกจัดก็มักจะเป็นวันอาทิตย์หลังเที่ยง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเว้นว่างจากการทำงานและมีเวลาให้ชมรมได้ ส่วนสถานที่ที่ใช้จัดงานก็จะแบ่งๆ กันไปในแต่ละสถาบันโดยที่บางครั้งก็มีการสมัครใจ บางครั้งก็ต้องยัดเยียดแล้วเมื่อใครเป็นเจ้าภาพก็ต้องเป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดหาอาหาร ห้องประชุมให้พร้อม ส่วนเรื่องไวน์นั้นมักจะเป็นหน้าที่ของหมอนิธิ ผม หรือไม่ก็อาจารย์ธาดาเป็นผู้เลือกสรร บางครั้งก็จะแจ้งให้ทราบถึงไวน์ที่จะได้ดื่มล่วงหน้า บางครั้งก็ดื่มเอาตาม
มีตามเกิด ใครอยากให้ลองอะไรก็เอากันมาเอง บางครั้งก็จะซื้อบ้างตามโอกาส บางครั้งบริษัทยาหรือเครื่องมือแพทย์ก็เป็นผู้จัดหาให้ ดูเผินๆ แล้วชมรมนี้น่าจะมีเงินสนับสนุนเยอะมาก และถ้าจะเก็บเงินเป็นสปอนเซอร์ก็คงมีมาก แต่เป็นเรื่องเราคิดกันล่วงหน้าและเป็นดำริของอาจารย์ธาดาผู้ก่อตั้งคือไม่ให้มีการเก็บเงินกันมากมาย ให้เก็บเฉพาะค่าสมาชิกคนละ 500 บาท ตลอดชีวิต และค่าอาหารก็ไม่ต้องเสียเพราะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ (สถาบันที่มีห้องสวนหัวใจ) ค่าไวน์ก็แล้วแต่ใครจะนำมา ชมรมนี้ก็เลยมีแต่ศักยภาพที่จะมีเงินมาก แต่ในยุคนี้ 2541 ซึ่งเป็นยุคเงินบาทถดถอยชมรมก็ยังไม่มีเงินมากอยู่ดี แต่เรามีความพอเป็นที่ตั้งเพราะจะจัดงานอะไรก็ทำได้ไม่เดือดร้อนสักที

     รูปแบบถัดมาก็จะเปลี่ยนไปบ้างตามโอกาส ก็คือมีการจัดให้ตรงกับเวลาที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบ้างซึ่งก็เป็นการจัดเพื่อพัฒนาพวกเรากันเองเพราะมีความรู้ใหม่ เครื่องมือใหม่ๆ ที่เราจะต้องเรียนรู้มากขึ้น และก็มีการจัดให้มี live demonstration มากขึ้น นอกเหนือจากการที่จะมีผู้เชี่ยวชาญไปในแต่ละโรงพยาบาลเพื่อสอนวิธีใหม่ๆ ในระยะหลังก็มีการจัดรูปแบบเป็น Convention และเป็น Official Course มากขึ้นและให้พวกเรากันเองเป็นวิทยากรและเป็นModerator ร่วมไปกับวิทยากรชาวต่างประเทศ ซึ่งอีกไม่นานคิดว่าเราคงจะจัดเป็น International Meeting ได้ซึ่งอาจจะนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในบ้านได้อีกวิธีหนึ่ง

     งานอีกด้านหนึ่งที่ได้อาจารย์กัมปนาทเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง คือ การจัดการอบรมศึกษาต่อเนื่องกับพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในห้องสวนหัวใจ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ต้องเรียนรู้งานต่างๆ ไปพร้อมกับเรา และมีความสำคัญมากที่สุดในงานห้องสวนหัวใจ ที่จะเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน คือการออกประกาศนียบัตรยอมรับความรู้ความสามารถของบุคลากรเหล่านี้ ก็คิดว่าน่าจะทำให้เรามีมาตรฐานในการประกอบการที่ดีขึ้นและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

     อีกอันที่อยากจะคุยให้ทราบคือ ชมรมนี้เป็น prototype หรือต้นแบบของชมรมช่างไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกคนละแม่กับชมรมมัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเขาเองไม่มีนักตั้งชื่อให้เป็นสิริมงคลและมีความสละสลวยเหมือนหลอดเลือด สมาชิกชมรมช่างไฟฟ้าก็เป็นพวกที่แตกหน่อออกไปจากชมรมนี้ และก็มีจัดให้เป็นรูปร่างคล้ายๆ กัน ซึ่งอีกหน่อยก็คงจะแยกกันชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันผู้เขียนเมื่อเข้าประชุมวิชาการกับชาวชมรมช่างไฟฟ้าก็ไม่รู้แล้วว่าภาษาเขาคือ ภาษาอะไร

     มาถึงจุดนี้ก็คิดว่าชมรมนี้มาไกลมากและได้รับความสนใจจากบุคคลหลายสายงาน จะทำอะไรก็มีคนให้ความสนับสนุนเสมอรูปแบบของกิจกรรมก็คงจะเป็นทั้งคุยกันเองในหมู่สมาชิก และเป็นทั้งงานใหญ่ระดับอินเตอร์สลับไปสลับมา แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนดีใจที่ต่างคนก็ต่างช่วยและให้ความร่วมมือมาตลอด อีกหน่อยชมรมนี้อาจจะยกระดับเป็นสมาคมเหมือนสมาคมแพทย์โรคหัวใจในปัจจุบันก็ได้ ใครจะรู้